- Blog
- Custom Scar Planning
- June 23, 2021
10 ข้อที่คุณควรรู้ก่อน “รักษาฝ้า”
หมอปอร์เช่
นพ. สราวุธ เหล่ากิจรุ่งโรจน์
แพทย์ผู้ก่อตั้ง DSK Clinic
สารบัญ
ก่อนจะรักษา “ฝ้า” มาเช็คกันว่าคุณรู้และเข้าใจเกี่ยวกับฝ้ามากน้อยแค่ไหน?
1. ฝ้าเป็นโรคที่มีปัจจัยจาก “พันธุกรรม” โดยเกิดจากการที่โรงงานสร้างเม็ดสีหรือเซลล์เมลาโนไซต์ทำงานมากกว่าปกติ
2. ฝ้า “รักษาได้” จางลงได้ในหลายคน “หายได้ แต่ไม่หายขาด”
คำถามที่หมอพบบ่อยคือ ฝ้าหายขาดไหม? ด้วยความที่เราเป็นคนตอบตามความจริง ก็ต้องตอบว่า “ฝ้าไม่หายขาด” คำว่า “หายขาด” แปลว่า รักษาแล้วจะไม่กลับมาเป็นอีก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดสามารถรักษาฝ้าแล้วหายขาดได้ แต่คนเป็นฝ้าก็อย่าเพิ่งเสียใจไป เพราะถึงแม้ฝ้าไม่หายขาด แต่สามารถรักษาให้จางลงจนลดเลือนจนแทบมองไม่เห็นได้ หากเราควบคุมฝ้าอย่างเข้าใจ ก็จะสามารถทำให้ฝ้าไม่กลับมาเข้มแบบเดิมอีก แต่ถ้าเราดูแลผิด ๆ ฝ้าก็สามารถกลับมาเข้มได้ นั่นคือความหมายของคำว่าไม่หายขาดของหมอนั้นเอง ดังนั้นอาจจะสรุปได้ว่า “ฝ้าไม่หายขาด” แต่สามารถ “จางหรือหายระยะยาวได้” หากดูแลอย่างถูกต้อง
3. ขั้นตอนแรกของการรักษาฝ้า: “ตัดปัจจัยกระตุ้นฝ้า”
แม้ฝ้าจะมีสาเหตุจากปัจจัยภายในร่างกาย เช่น พันธุกรรม แต่ปัจจุบันพบว่ามีปัจจัยหลาย ๆ อย่างภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นฝ้า หลัก ๆ จะมี 3 อย่างคือ แสงแดด ฮอร์โมน และยาบางชนิด เช่นยากันชักบางประเภท
สำหรับแสงแดดนั้น ปัจจัยกระตุ้นจะมีทั้ง UVA UVB และแสงที่มองเห็นได้ (Visible light) เช่น แสงสีน้ำเงิน
ส่วนฮอร์โมนหลัก ๆ ก็จะเกี่ยวข้องกับยาเม็ดคุมกำเนิด และภาวะอื่น ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การตั้งครรภ์
4. ทากันแดดผิดวิธี
เนื่องจากแสงแดดเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยหลักของฝ้า ดังนั้นเคล็ดลับที่ทำให้จัดการฝ้าได้สำเร็จคือ การทากันแดดให้ถูกต้อง แต่หมอพบว่า คนไข้ส่วนมากทากันแดดผิด หมอจึงขอแนะนำเคล็ดลับการทากันแดด 3 ข้อคือ
เลือกครีมกันแดดให้ถูกต้อง
ควรเลือกครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติเป็น broad spectrum คือสามารถป้องกันได้ครบทั้ง UVA และ UVB และแสงที่ตามองเห็น (Visible light) ที่สำคัญกันแดดนั้นควรทาได้ในปริมาณมาก เพราะกันแดดควรใช้ปริมาณมาก
ทาปริมาณที่เหมาะสม
ควรทาครีมกันแดดในปริมาณที่ระบุข้างกล่อง ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอที่จะป้องกันอันตรายจากแสงแดดได้ ปริมาณที่เหมาะสมคือ 2 mg/cm2 หากเป็นเนื้อครีมจะเทียบเท่ากับการบีบยาสีฟันประมาณ 2 ข้อนิ้ว หากทาน้อยกว่านั้น ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดจะ “ลดฮวบ” เช่น หากทาเพียง 1 ข้อนิ้ว SPF50 จะลดลงเหลือเพียง SPF7 เท่านั้น แม้จะซื้อกันแดด SPF100 แต่ถ้าทาในปริมาณน้อยก็อาจจะไม่ได้ผลเช่นกัน ส่วนกันแดดเนื้อรองพื้นหรือเนื้อหนักเกินไปก็อาจจะไม่เหมาะ เพราะหากทาเยอะ ๆ จนถึงปริมาณที่กำหนดอาจจะทำให้หน้าลอยหรือหน้าวอกได้
การทาซ้ำ
ใน 1 วันหมอแนะนำให้ทาครีมกันแดดอย่างน้อย 2 ครั้ง คือเช้าและเที่ยง จึงจะสามารถป้องกันแสงแดดได้เพียงพอ
5. เลเซอร์ไม่ใช่ทางเลือกหลักของการรักษาฝ้า
หากเลือกเลเซอร์ถูกชนิด ก็เป็นการรักษาเสริมที่ทำให้ฝ้าหายดีขึ้น ในทางตรงข้ามหากเลือกเลเซอร์ผิด หรือทำผิดเทคนิค ก็จะทำให้ฝ้าแย่ลงได้ง่าย ๆ
ที่ต้องพูดข้อนี้เป็นเพราะว่า มีคนไข้จำนวนมาก inbox เข้ามาว่า “เลเซอร์ฝ้าราคาเท่าไหร่?” หรือ “มีเลเซอร์ฝ้าไหมคะ?” หมอก็ต้องขออธิบายยืดยาวนิดนึงว่า สำหรับบางปัญหาเช่น “กระลึก” “กระตื้น” “กระเนื้อ” เลเซอร์คือการรักษาที่ดีที่สุดและทำให้ปัญหาเหล่านั้นหายไปได้
แต่สำหรับ “ฝ้า” โรคเม็ดสีที่เกิดจากโรงงานสร้างเม็ดสีผิดปกติ การทำเลเซอร์อาจไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษาเพราะอาจทำให้ฝ้าแย่ลง
แต่ในปัจจุบันก็พบว่า “เลเซอร์บางชนิด” เข้ามามีบทบาทในการรักษาฝ้าอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ้าลึกที่ยาทาได้ผลไม่ดี เลเซอร์เป็นเครื่องมือนึงที่แพทย์ใช้เป็นตัวช่วยจัดการ แต่เราจะไม่ใช้เลเซอร์เป็น “การรักษาเดี่ยว” ไม่ได้ใช้เลเซอร์ให้ฝ้าจางโดยไม่ทายา หรือรักษาโดยวิธีอื่น แต่จะใช้ “เลเซอร์ร่วมกับการรักษาอื่น” เช่น การกินยา การรับประทานยา หรือการผลัดเซลล์ผิว เป็นต้น
โดยเลเซอร์ที่ได้ผลกับฝ้าและเป็นที่พูดถึงคือการใช้ Low-fluence Q-Switched NdYAG ซึ่งก็คือ การใช้เลเซอร์กลุ่มที่จำเพาะต่อเม็ดสียิงด้วยเทคนิคพลังงานต่ำนั่นเอง ซึ่งเครื่องมือที่คลินิกเราใช้ก็คือ SpectraXT ถือเป็นเลเซอร์ระบบ Q-switched NdYAG แบรนด์เดียวที่ได้รับการรับรองจาก USFDA ในข้อบ่งชี้เรื่องการรักษาฝ้าในปัจจุบัน
6. มาตรฐานหลักของการรักษาฝ้าในปัจจุบัน ยังคงเป็น “การใช้ยาทา”
ยาทาที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบันคือ Hydroquinone ซึ่งควรควบคุมการใช้โดยแพทย์ เนื่องจากต้องปรับความเข้มข้นขึ้นลง รวมถึงมีการกำหนดระยะเวลาใช้ เนื่องจากหากใช้นอกเหนือการควบคุม ใช้ความเข้นข้นมากเกินไป ทานานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การเกิดฝ้าถาวรที่รักษาไม่หาย (External ochronosis) การใช้ยารักษาฝ้าจึงควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์ นอกจากการใช้ Hydroquinone แล้ว การใช้ส่วนประกอบอื่น ๆ ก็อาจมีประโยชน์ในการรักษาฝ้า เช่น Arbutin, Kojic acid, Butylresorcinol และ Tranexamic acid เป็นต้น
7. “เพราะการใช้ยาทาอย่างเดียวอาจมีข้อจำกัด”
จึงมีการพัฒนาการรักษาใหม่ ๆ เนื่องจากฝ้าเป็นโรคที่หายยาก การใช้ยาทาอย่างเดียวจึงอาจทำให้ฝ้าดีขึ้นไม่ดีพอ โดยเฉพาะในฝ้าลึก ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคนิคการรักษาเสริมในฝ้า เพื่อทำให้ฝ้าหายได้ดีขึ้น การรักษาเหล่านั้นได้แก่ การรับประทานยา การผลัดเซลล์ผิวชั้นบน เลเซอร์ และการฉีดฝ้า
8. “ยารับประทานรักษาฝ้า”
ปัจจุบันพบว่า Tranexamic acid แบบรับประทานสามารถช่วยรักษาฝ้าได้ดีมาก และ “ปลอดภัยสูง” เมื่อ “ใช้ในความควบคุมของแพทย์”
สมัยก่อนมีข้อกังวลว่ายารักษาฝ้าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด แต่ในปัจจุบันมีหลักฐานรับรองความปลอดภัยของยารักษาฝ้าชนิดนี้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์ เพราะต้องมีการกำหนดปริมาณยา กำหนดระยะเวลาที่รับประทาน และที่สำคัญคนไข้บางคนมีข้อห้ามในการรับประทานยาชนิดนี้ แพทย์จึงต้องซักประวัติก่อนเสมอ
9. ถึงแม้การรับประทานยา การผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peeling) รวมทั้งการฉีดยารักษาฝ้าเฉพาะที่จะสามารถทำให้ฝ้าจางลงได้ แต่ควรอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น
10. ฝ้าไม่หายขาด แต่ควบคุมระยะยาวได้
เนื่องจากฝ้าเป็นโรคไม่หายขาด ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือเมื่อรักษาหาย ต้องควบคุมไม่ให้มันกลับมากวนใจได้ หมายความว่า “เมื่อคุณรักษาฝ้าหาย” การหยุดรักษาไม่ควรทำให้กลับมามีฝ้าอีก หน้าที่ของแพทย์คือ จะต้องควบคุมไม่ให้ฝ้ากลับมาเข้ม ทั้งการทากันแดด รวมถึงการค่อย ๆ ปรับลดยา และทายาหรือผลิตภัณฑ์ลดเม็ดสีกลุ่มที่ใช้ระยะยาวแล้วมีความปลอดภัย หรือในคนไข้บางคนที่ฝ้า “ดื้อมาก” อาจใช้ยารับประทานเป็นระยะ แต่ไม่ต้องกินตลอด เพื่อลดการกลับมาของฝ้า ทั้งนี้ทั้งหมดขึ้นกับแพทย์ที่ทำการรักษา
แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือ เมื่อรักษาฝ้าจนหาย แล้ว หยุดยาทันที ไม่กลับมาปรับยา ลดยา เนื่องจากคนไข้หลายคนเข้าใจผิดว่าพอรักษาฝ้าหายแล้วหยุดยาได้ทันที การหยุดยาทันทีเช่นนี้จะทำให้ฝ้า “ตีกลับ” ขึ้นมาเข้มแบบเดิม หรือเข้มกว่าเดิมได้ ในการรักษาคนไข้ฝ้า การสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากนั่นเอง
บทความโดยทีมแพทย์ DSK Clinic