- Blog
- Custom Skin Quality
- April 10, 2025
เป็นสิวไม่หายสักทีเกิดจากสาเหตุใด รักษาอย่างไรไม่ให้กลับเป็นสิวซ้ำอีก

หมอปอร์เช่
นพ. สราวุธ เหล่ากิจรุ่งโรจน์
แพทย์ผู้ก่อตั้ง DSK Clinic

สารบัญ
บทความโดย หมอปอร์เช่ นพ. สราวุธ เหล่ากิจรุ่งโรจน์
หมอมั่นใจว่า “สิว” ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาระดับชาติ แต่ต้องถือเป็นปัญหาระดับโลกที่อยู่คู่คนทั่วโลกมาโดยตลอด คนที่ไม่เป็นสิวอาจจะมองว่า “สิว” ก็แค่เรื่องเล็ก ๆ แต่ถ้าใครที่เคยเป็นสิวรุนแรง น่าจะเข้าใจว่า “ปัญหาสิว” นั้นไม่เล็กเลย เพราะนอกจากจะทำให้เสียความมั่นใจแล้ว บางครั้งอาจทำให้เสียโอกาสอะไรบางอย่างไป ที่สำคัญมักตามมาด้วยสิ่งที่หายยากกว่าตัวมัน นั่นก็คือ “หลุมสิว” รวมถึงรอยแดง รอยดำ ซากอารยธรรมต่าง ๆ ที่สิวได้ทิ้งไว้อีกด้วย
ถึงแม้สิวจะดูรักษาไม่ยาก แต่หมอคิดว่าในความดูไม่ยากของมันนั้น ก็มีความยากอยู่ จึงมีคนเป็นสิวจำนวนมากที่รักษาแล้วไม่หาย เพราะการรักษาสิวอย่างถูกต้องนั้น มีความลับของมันอยู่ว่า ทำอย่างไรสิวจึงจะหาย ต้องใช้ยาอย่างไร ปรับยาอย่างไร ดูแลตัวเองอย่างไร
สำหรับใครที่มีความกังวลเรื่องเป็นสิวไม่หายสักที มีปัญหาสิวเรื้อรัง หรือสิวอักเสบอยู่ วันนี้หมอจะมาเล่าเรื่องสิวผ่านหัวข้อ “10 สาเหตุที่ทำให้เป็นสิวไม่หายสักที” มาดูกันไปทีละข้อเลยดีกว่าว่าสิวเราไม่หายเพราะเหตุผลเหล่านี้หรือเปล่า? รับรองว่าจะช่วยให้คุณเข้าใจการรักษาสิวอย่างถูกวิธีมากขึ้นครับ
รวม 10 สาเหตุที่ทำให้เป็นสิวไม่หายสักที
สำหรับใครที่เป็นสิวไม่หายสักที ลองดู 10 สาเหตุที่ทำให้เป็นสิวไม่หายสักทีที่หมอรวบรวมมาให้ดู แล้วปรับเปลี่ยนวิธีรักษาสิวให้เหมาะสมกับตนเอง อาจช่วยให้ปัญหาสิวที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้ครับ
1. เข้าใจผิดว่าเป็นสิว
การมี “ตุ่มแดง” บนใบหน้า ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นสิวทุกกรณี หลายครั้งคนไข้ที่หมอเจอเข้าใจว่าตัวเองเป็นสิว แต่ใช้ยาสิวเท่าไหร่ก็ไม่หาย เพราะจริง ๆ แล้วตุ่มแดงบนหน้านั้นไม่ใช่สิว แต่เป็นโรคที่คล้ายสิวต่างหาก
ขอปรับความเข้าใจกันใหม่ว่า สิวไร สิวยีสต์ สิวผด ไม่ใช่สิว โรคกลุ่มนี้ดูภายนอกนั้นอาจจะคล้ายสิวก็จริง แต่ถ้าใช้สายตาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกฝนเฉพาะทางมาก็จะดูรู้ว่ามัน “ไม่ใช่สิว” การใช้ยารักษาสิวจึงอาจจะไม่ทำให้หาย
ตัวอย่างโรคที่คล้ายสิว เช่น
- ตุ่มรูขุมขนอักเสบจากยีสต์ (Pityrosporum folliculitis)
- รูขุมขนอักเสบจากเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophillic folliculitis)
- ผดร้อน (Miliaria)
- รูขุมขนอักเสบจากตัวไร (Demodex folliculitis)
โรคผิวหนังเหล่านี้จะใช้ยาคนละกลุ่มกับยารักษาสิวโดยสิ้นเชิง การใช้ยารักษาสิวจึงไม่ทำให้โรคดีขึ้น และอาจทำให้โรคแย่ลงได้
2. ไม่รู้สาเหตุการเกิดสิวของตนเอง
เมื่อมั่นใจว่าเป็นสิวแน่ ๆ อันดับต่อไปคือต้องหาสาเหตุของสิวให้เจอ เพราะสิวจะหายได้ถ้า “กำจัด” ปัจจัยกระตุ้นออกไป หมอขอแบ่งปัจจัยในการเกิดสิวออกเป็น 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ซึ่งอาศัยการดูแลที่แตกต่างกัน
สำหรับปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดสิวนั้น จะมีอยู่ 3 อย่างหลัก ๆ ได้แก่

เครื่องสำอาง
หลายคนเข้าใจว่า สิวเครื่องสำอางจะต้องเกิดจาก Makeup เช่น แป้ง หรือรองพื้นเท่านั้น ส่วนผสมที่ก่อให้เกิดสิว อาจอยู่ตั้งแต่ขั้นตอนการล้างหน้า ก็ได้ ดังนั้น จึงควรนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัยพร้อมกล่องมาให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญลองดูส่วนผสมว่าอาจมีส่วนผสมที่อุดตันได้หรือไม่

สเตียรอยด์
สิวสเตียรอยด์อาจเกิดได้ทั้งจากยาทา และยากินที่เป็นสเตียรอยด์ ลักษณะสิวจะเป็นลักษณะที่จำเพาะคือ สิวเม็ดขนาดเท่า ๆ กัน

สิวจากการเสียดสี
Acne Mechanica เป็นสิวที่เกิดในบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย เช่น การสครับหน้า การขัดถู อาจเป็นสิวอุดตันหรือสิวอักเสบก็ได้
โดยทั่วไปหากเป็นสิวจากปัจจัยภายนอกโดยที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีสิวเลย หลังกำจัดปัจจัยภายนอกได้สิวก็จะหายถาวร
แต่หากเป็นสิวที่เกิดจากปัจจัยภายใน เช่น ฮอร์โมน พันธุกรรม มักต้องทายาบางตัวควบคุม จนหมดช่วงวัยสิว
3. ไม่เข้าใจธรรมชาติสิว ทำให้รักษาไม่ถูกต้อง
หลังจากรู้แน่ชัดว่าเป็นสิว และกำจัดปัจจัยภายนอกได้ ก็ถึงขั้นตอนการรักษา ในขั้นตอนนี้หมอเจอคนไข้จำนวนมาก “รักษาสิวผิด เพราะไม่รู้จักธรรมชาติสิว” บางคนก็ทายาฆ่าเชื้อสิวอย่างเดียว โดยที่ไม่รู้ว่า “สิว” ไม่ใช่โรคติดเชื้อ การทายาฆ่าเชื้อเป็นการรักษาปลายเหตุเท่านั้น แต่สิวใหม่ก็จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นการรักษาสิวที่ถูกต้อง จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของสิว แล้วเข้าไปจัดการทีละปัจจัย

โดยทั่วไปรูขุมขนปกติจะมีลักษณะเป็นรูเปิด ภายในรูขุมขนนั้นจะมีต่อมไขมันที่อยู่ข้างเส้นขน คนปกติแม้จะเป็นคนหน้ามัน มีการสร้างน้ำมันที่ผิวเยอะ แต่ก็จะไม่อุดตัน เพราะรูด้านบนเป็นรูเปิด ทำให้สามารถขจัดน้ำมันออกมาได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตัน คือ “ฮอร์โมนและพันธุกรรม” โดย 80% มักเกิดจากร่างกายเราเอง หมายความว่า “คนเป็นสิว” แม้จะไม่ทาอะไรเลย ล้างหน้าสะอาดมาก ๆ ก็ยังจะอุดตันและเป็นสิวอยู่ดี เพราะคนเป็นสิวมีการสร้าง “เคราติน” มากกว่าคนปกติ
ดังนั้นรูขุมขนที่ควรจะเปิด จะถูกอุดด้วยเคราติน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากฮอร์โมนและพันธุกรรม เมื่อรูขุมขนอุดตัน มีไขมันสะสมมากขึ้น แบคทีเรีย “C. acnes” (Cutibacterium acnes หรือเมื่อก่อนเรียกว่า P. acnes) ที่เดิมมีบนผิวอยู่แล้วจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นตุ่มอักเสบขึ้นมา
การอุดตันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ “รูเปิด” กลายเป็น “รูปิด” ทำให้น้ำมันออกมาไม่ได้ จึงเกิดการสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวนั่นเอง
4. ยาที่ใช้รักษาไม่ครอบคลุมทุกกลไกเกิดสิว
จากที่หมอเล่าไปว่า สิวเกิดจาก 2 กลไกหลัก คือ การสร้างเคราตินมากไปของผิว และการที่แบคทีเรียเพิ่มจำนวน นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่เข้าใจยาก หมอจึงขอเอามาพูดแยกคือ ปริมาณและองค์ประกอบของน้ำมันที่สร้างจากผิว และกระบวนการอักเสบของร่างกาย ซึ่งถูกกำหนดด้วยพันธุกรรม

- ปัญหาคือ คนทั่วไปมักใช้แต่ “ยาแต้มสิว” “ยาฆ่าเชื้อสิว” ที่เข้าไปจัดการปลายทางของสิว แต่ไม่ได้ลดการเกิด “สิวใหม่”
- ทำให้เกิดปัญหา สิวเก่ายุบ แต่สิวใหม่ “ขึ้นไม่หยุด”
- นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้ยาที่ “ช่วยลดการอุดตัน” ซี่งเป็นสาเหตุของสิว แต่ไปลดผลลัพธ์ซึ่งคือ “สิวอักเสบเท่านั้น”
คำถามคือ “บนหน้ามีแต่สิวอักเสบ ไม่มีสิวอุดตันเลย” ต้องใช้ยาลดสิวอุดตันไหม? คำตอบคือ “ต้องใช้” เพราะแม้จะไม่มี “สิวอุดตันที่มองเห็นได้” แต่การใช้ยาสิวอุดตันเป็นการลดการอุดตันที่ทำให้เกิดสิวใหม่ขึ้น แต่ประเด็นคือ “ยาลดสิวอุดตันบางตัว” อาจทำให้สิวเห่อช่วงแรก แพทย์จึงมักควบคุมสิวอักเสบให้ได้แล้วค่อยให้ยาลดสิวอุดตันในเวลาที่เหมาะสม ตามเทคนิคของแพทย์แต่ละท่านนั่นเอง
5. ใช้ยารักษาสิวไม่ตรงระดับความรุนแรง
เชื่อว่าทุกคน อ่านมาถึงจุดนี้คงเข้าใจเบสิคของการเกิดสิวกันแล้ว ว่าต้องวินิจฉัยให้ถูกต้อง และใช้ยาให้ครอบคลุมทุกปัจจัย รวมถึงตัดปัจจัยภายนอกที่อาจกระตุ้นสิว
ประเด็นสำคัญต่อไปคือ ตัวเลือกยาที่ใช้ ต้องขึ้นกับระดับความรุนแรงด้วย โดยทั่วไปแพทย์ผิวหนังแบ่งระดับของสิวเป็น 3 ระดับ
- หากเป็นสิวเล็กน้อย (Mild) การใช้ยาทาอย่างเดียวที่หาซื้อได้เองอาจเพียงพอ
- หากเป็นสิวมากขึ้นความรุนแรงระดับปานกลาง (Moderate) ยาทาอย่างเดียวมักไม่สามารถควบคุมสิวได้ จึงต้องอาศัยยารับประทานด้วย อาจเริ่มจากยาฆ่าเชื้อและยาลดการอักเสบ ร่วมกับ ยาทา
- หากเป็นสิวรุนแรง (Severe) อาจต้องใช้ยารับประทานกลุ่มกรดวิตามินเอ ร่วมกับยาทา ซึ่งกลุ่มของยารับประทานไม่ควรซื้อมาใช้เอง เพราะต้องมีการคำนวนปริมาณยา (Dose) และเลือกชนิดของยาให้ตรงกับปัญหาของคนไข้
ดังนั้นจึงควรมาพบแพทย์เพื่อประเมินและวางแผนการรักษารายคน ก่อนที่สิวจะบานปลาย ที่สำคัญคือ การทิ้งสิวไว้นานจะทำให้เกิดแผลเป็นที่มากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็มากขึ้นไปด้วย หลายคนเข้าใจผิดว่า ไม่ว่าฉันเป็นสิวแรงแค่ไหน ฉันจะเริ่มจากยาทาได้ เพราะสมัยนี้คนไข้ชอบอ่านรีวิวและใช้ยาเองตามอินเทอร์เนต ต้องบอกว่าตามหลักการแล้ว หากคุณเป็นสิวรุนแรง คุณไม่ควรเสียเวลาเริ่มต้นที่ยาทา เพราะจะทำให้การรักษามันนานออกไป และมีโอกาสล้มเหลวสูง สุดท้ายก็ต้องเริ่มรักษาใหม่อยู่ดี
6. ใช้ยาทารักษาสิวผิดวิธี
แม้ยาทาจะเหมือนกัน แต่อาจได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน ความแตกต่างคือ การแนะนำวิธีการทา ระยะเวลาการทา และการเลือกยาให้ถูกต้องในแต่ละระยะ รวมถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก้คนไข้ เพื่อให้เกิดการดูแลที่ถูกต้อง หมอขอยกตัวอย่างดังนี้
ตัวอย่างการรักษาสิวในคนไข้มีสิวอักเสบทั่วหน้าเยอะมาก
- ระยะแรกเราจะเน้นที่ “การลดอักเสบ” เช่น อาจจะใช้ยากลุ่ม Benzoyl Peroxide ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการอักเสบให้ได้มากที่สุด
- งดยากลุ่มลดอุดตัน เช่น ยาทากรดวิตามินเอ เพราะมักระคายเคือง และอาจทำให้สิวเห่อมากจนคนไข้รับไม่ได้
- อาจจะใช้ยารับประทานกลุ่มกรดวิตามินเอที่ใช้ในสิวรุนแรง ร่วมกับยาลดอักเสบ เพื่อลดโอกาสการเห่อของสิวในช่วงแรก ทำให้การรักษาสิวราบรื่น
- เมื่อคนไข้อาการเริ่มดีขึ้นจนแทบไม่มีสิวอักเสบ เราค่อยจ่ายยาทาลดการอุดตัน เช่น วิตามินเอแบบทา เอาไว้คุมสิวระยะยาว และเอายาลดการอักเสบหรือฆ่าเชื้อสิวออกในภายหลัง
จะเห็นว่าเคล็ดลับความสำเร็จของเคสนี้คือ การเลือกยาให้ถูกตัว ถูกเวลา และหายเร็วที่สุด
ถามว่าเคสนี้ต้องทายาถึงเมื่อไหร่? คำตอบคือ ในกรณีที่เป็นสิวที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เมื่อสิวหายแล้วหยุดยาได้เลย สิวจะไม่ขึ้นมาใหม่ แต่กรณีเป็นสิวฮอร์โมน หรือพันธุกรรมภายใน หมอจะแนะนำให้ใช้ยาเพียง 1-2 ตัวควบคุมการอุดตันไปจนหมดช่วงวัยรุ่น หรือหากเป็นสิววัยผู้ใหญ่ก็ใช้ติดต่อกันจนสิวไม่ขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่งค่อยหยุด
7. ใช้ยารับประทานรักษาสิวผิดวิธี
เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก แม้กับแพทย์เอง ในแพทย์บางท่านที่ไม่ได้รักษาสิวเป็นประจำ ก็อาจมีการให้ยารับประทานผิด ความผิดพลาดที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
7.1. ให้ยารับประทานรักษาสิวสั้นเกินไป
ยารักษาสิวกลุ่มรับประทานมักเป็นยาที่ต้องให้นานถึงควบคุมสิวได้ และป้องกันไม่ให้สิวกลับมาใหม่ เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะมักต้องให้ 2-3 เดือน
ส่วนกลุ่มกรดวิตามินเอมีการให้ 2 แบบ คือ
- ใช้เพื่อการรักษาสิวเฉย ๆ อาจให้แค่สิวหายก็หยุดประมาณ 3 เดือน หรือ
- ถ้าหากต้องการให้ตัวยาควบคุมสิวได้แม้หยุดยา ควรคำนวนตามน้ำหนักให้ได้ปริมาณยา 120 mg/kg จะลดโอกาสการกลับมาเป็นสิวใหม่ โดยเฉพาะในเคสที่เป็นสิวรุนแรง หยุดรักษาสิวไม่ได้ โดยทั่วไปเมื่อคำนวณมาแล้วอาจต้องกินประมาณ 6 เดือน การให้ยาสั้นอาจทำให้ไม่ได้ผลเต็มที่และต้องกลับมารักษาใหม่เรื่อย ๆ
7.2. ให้ยารับประทานรักษาสิวนานเกินไป
ยากลุ่มปฏิชีวนะไม่ควรให้เกิน 6 เดือน ส่วนยากลุ่มกรดวิตามินเอ ไม่ควรให้ปริมาณยาสะสมเกิน 120-150 mg/kg
7.3. จับคู่ยารับประทานรักษาสิวผิด
ยาบางตัวไม่ควรให้คู่กันเพราะอาจมีอันตรายกับร่างกาย ตัวอย่างยารักษาสิวที่ไม่ควรใช้คู่กันคือ Doxycycline และ Isotretinoin เพราะอาจทำให้เกิดความดันโลหิตในกะโหลกศีรษะสูง (Pseudotumor Cerebri) ได้
8. เป็นสิวรุนแรงเกินการดูแลด้วยตัวเอง แต่ไม่ยอมไปหาหมอ
คนจำนวนมากมักกลัวการไปหาหมอรักษาสิว เพราะในปัจจุบันวงการผิวหนังและความงามกลายเป็นสีเทา กลัวจะเจอการรักษาที่ไม่ตรงจุด กลัวเกินงบ กลัวโดนเลี้ยงไข้ ซึ่งหมอไม่ปฏิเสธเลยว่า วงการนี้ก็เหมือนธุรกิจอย่างนึง ซึ่งมีการแข่งขันมากในปัจจุบัน ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่อีกด้านนึงการที่คนไข้มีสิวมาก หรือสิวรุนแรง แล้วพยายามรักษาด้วยตนเองหลายครั้งก็อาจไม่หาย เพราะสิวพวกนั้นยากต่อการรักษาแล้ว
การทิ้งไว้ให้เป็นสิวนาน มักจะมาพร้อมกับ “หลุมสิว” และ “รอยสิว” ที่รักษาแพงกว่าและยากกว่า ในเคสสิวรุนแรงหรือสิวที่รักษาแล้วไม่หายสักที หมอคิดว่าควรอาศัยการปรับยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยพิจารณาแต่ละเคสโดยละเอียดว่าควรให้ยาแบบไหน ปรับยาอย่างไร
ที่สำคัญถ้าเป็นคลินิกเฉพาะทาง มักจะมีเครื่องมือที่ได้มาตรฐานที่เสริมการรักษาสิว เช่น การฉายแสงฆ่าเชื้อสิว การผลัดเซลล์ผิว (Peeling) ลดการอุดตัน เลเซอร์ รวมถึงการกดสิว หรือฉีดสิวอย่างถูกวิธี สิ่งเหล่านี้ถ้าทำโดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน จะทำให้สิวดีขึ้นได้เร็ว หมอจึงขอเป็นกำลังใจให้คนไข้ทุกคนได้เจอคลินิกที่มีมาตรฐาน มีความเชี่ยวชาญ แต่หากใครยังหาไม่เจอก็ลองมาปรึกษาที่ DSK D-Skin Clinic ได้เลย หมอพร้อมดูแลทุกเคสอย่างดีแน่นอน
9. ไม่ปรับการดูแลผิวในชีวิตประจำวัน
การรักษาสิวไม่ใช่แค่การใช้ยา แต่ต้องปรับการดูแลผิวในชีวิตประจำวันด้วย ตั้งแต่การล้างหน้าจนถึงการแต่งหน้า ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ใช้ต้องไม่มีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดสิวเช่น Sodium Laryl Sulfate, Isopropyl Myristate, Lanolin ฯลฯ โดยปกติหมอแนะนำว่าควรนำผลิตภัณฑ์ทุกตัวพร้อมกล่องที่ระบุส่วนผสมมาให้หมอดูประกอบการประเมินรักษาสิว จะได้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปลอดภัย และไม่ทำให้เกิดสิวแน่นอน
อีกส่วนที่สำคัญคือการทำความสะอาดผิวหน้า คนไข้รักษาสิวควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่อ่อนโยน ปราศจากสบู่และมี pH ประมาณ 5.5 จะเหมาะสมที่สุด
10. เป็นสิวไม่หายสักที อาจมีภาวะอื่นนอกจาก “สิว” ร่วมด้วย
หลาย ๆ ครั้งการเป็นสิว ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลำพัง หมอเจอคนไข้จำนวนมากที่มีทั้งสิว ประกอบกับโรคอื่นเช่น เซปเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) หรือผื่นผิวหนังอักเสบอื่น ๆ ทำให้การรักษาสิวยากขึ้นไปอีก เพราะยาสิวอาจกระตุ้นผื่นเซปเดิร์ม หรือแม้รักษาสิวหาย แต่ผื่นเซปเดิร์มไม่หาย ทำให้เข้าใจว่าสิวไม่หาย การรักษาสิวกลุ่มนี้เลยต้องวางแผนการใช้ยาเป็นพิเศษ
รักษาสิว ที่ DSK Clinic ต่างจากที่อื่นอย่างไร
สำหรับคนไข้เป็นสิว สามารถนัดเข้ามาปรึกษาทีมแพทย์ DSK ได้ทุกเวลา ที่คลินิกเรามีคติในการรักษาสิวคือ “ต้องหายเร็ว” และ “หายระยะยาว” ไม่ใช่เป็น ๆ หาย ๆ ด้วยโปรแกรมรักษาสิวครบวงจร ACNE CLEAR PRO ที่ดูแลโดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง และเครื่องมือทางการแพทย์ที่สมัย มั่นใจได้เลยว่าจะรักษาสิวที่ต้นตอ และทำให้ทุกคนหายจากสิวอย่างแท้จริง

โปรแกรม ACNE CLEAR PRO รักษาสิวที่ต้นเหตุ 5 ขั้นตอน ดังนี้
- วิเคราะห์และวางแผนการรักษาสิวระยะยาว สิวหายเร็ว และไม่กลับมาเป็นอีกในระยะยาว
- ได้ปรึกษาและได้รับคำแนะนำก่อนรับการรักษา ไม่กดดันขายคอร์ส
- ดูแลและรักษาเคสสิว โดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง
- เทคโนโลยี Healite II เครื่องฉายแสงลดสิวมาตรฐานอเมริกา U.S. FDA
- รักษาสิวที่ต้นตอสาเหตุของแต่ละคนอย่างแท้จริง ไม่เลี้ยงไข้
นอกจากนี้ ที่ DSK ยังมีโปรแกรมรักษารอยสิวด้วยเครื่องเลเซอร์ชั้นนำอย่าง Picosecond Laser ที่โดดเด่นในด้านรักษารอยดำจากสิว และ Redtouch Pro Laser ที่โดดเด่นในด้านปรับผิวหน้าให้กระจ่างใส ลดรอยดำ รอยแดงจากสิวโดยไม่ต้องพักฟื้น รวมถึงโปรแกรมรักษาหลุมสิวที่ออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล พร้อมช่วยให้ทุกคนเผยผิวหน้าที่กระจ่างใสเรียบเนียนอย่างแท้จริง
สรุป เป็นสิวไม่หายสักที แก้ไขได้ด้วยการรักษาสิวถูกวิธี
จะเห็นได้ว่า การรักษาสิวให้ได้ผลต้องเริ่มจากการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และใช้ยาที่ตรงกับระดับความรุนแรงของสิว เพื่อรักษาให้ครอบคลุมทุกกลไกการเกิดสิว ไม่ว่าจะเป็นการลดการอุดตัน ลดการอักเสบ หรือควบคุมแบคทีเรีย ควบคู่กับการปรับการดูแลผิวในชีวิตประจำวัน หากสิวรุนแรงก็ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
สำหรับใครที่เป็นสิวเรื้อรัง เป็นสิวไม่หายสักที อย่าปล่อยทิ้งไว้จนอาการสิวรุนแรงขึ้น หรือทำให้เกิดหลุมสิวตามมา สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์ที่ DSK ได้เลย คุณหมอของเราพร้อมให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วย โปรแกรม ACNE CLEAR PRO ที่ออกแบบเพื่อรักษาสิวที่ต้นเหตุอย่างครบวงจร มั่นใจได้เลยว่า จะช่วยรักษาสิวที่ต้นเหตุ และทำให้ปัญหาสิวของคุณดีขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน!
